Sahakijcharoen International Co., Ltd.
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
SCI Support
เริ่มแชท

คุณก็เป็นผู้จัดการระบบน้ำในบ้านได้

Last updated: 9 ก.ย. 2564  |  4799 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คุณก็เป็นผู้จัดการระบบน้ำในบ้านได้

หากระบบน้ำประปาในบ้านทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เจ้าของบ้านอย่างเราๆ มีความสุขที่ได้พักผ่อนหย่อนใจอยู่ที่บ้านกับครอบครัวแบบไร้กังวล ปัญหาส่วนใหญ่เกิดกรณีน้ำบางจุดไหลอ่อนบ้างแรงบ้าง เมื่อมีการเปิดน้ำภายในบ้านพร้อมกันหลายจุดเกินไป ทำให้น้ำไหลไม่สม่ำเสมออันเนื่องมาจากน้ำในเส้นท่อมีแรงดันไม่เพียงพอ แต่โดยทั่วไปน้ำจากการประปามักมีแรงดันต่ำ เมื่อต้องใช้งานในบ้านสูงกว่า ถ้าบ้านอยู่ในพื้นที่ที่มีบ้านเรือนหนาแน่นก็จะเกิดการแย่งกันใช้น้ำ อย่างเช่น ในวันหยุดที่คนส่วนใหญ่มักอยู่บ้านทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้า ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ ทำให้แรงดันน้ำต่ำลงมากจนบางครั้งน้ำไม่ไหลเลยก็มี ด้วยเหตุนี้เราจึงนิยมใช้ปั๊มน้ำมาช่วยเพิ่มแรงดันน้ำให้สูงขึ้นอีก เพื่อให้ทุกจุดในบ้านมีความแรงของน้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ไหลอ่อนจนเกินไป และอาจมีการใช้ปั๊มน้ำร่วมกับถังเก็บน้ำภายในบ้านซึ่งเรามีเกร็ดความรู้ที่เป็นประโยชน์มากๆ เกี่ยวกับการจัดระบบการใช้น้ำประปาง่ายๆที่ใครก็ทำได้มาฝาก 



1.สำหรับที่พักอาศัย 1-2 ชั้น เป็นเทคนิคที่นิยมกันมากและใช้กับโดยแพร่หลาย โดยติดตั้งปั๊มน้ำเข้ากับถังเก็บน้ำที่อยู่ชั้นล่าง อาจตั้งไว้หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมในการเดินท่อน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน มีหลักการง่ายๆคือเราจะตั้งถังเก็บน้ำหรือแท้งก์เพื่อเก็บน้ำที่ผ่านเข้ามาจากมิเตอร์หน้าบ้าน แล้วจึงต่อมายังปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ ให้สามารถจ่ายน้ำขึ้นไปยังชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปได้ โดยที่ระบบนี้ปั๊มน้ำจะทำงานเมื่อเปิดใช้น้ำและหยุดทันทีเมื่อปิดน้ำ

ข้อสังเกต : หากไม่มีผู้ใช้น้ำแต่ปั๊มยังทำงานเองเป็นครั้งคราว  แสดงว่าในระบบท่อน้ำดีอาจมีการรั่วซึม จำเป็นต้องตรวจสอบและเร่งแก้ไข


นอกจากนี้เรายังมีเทคนิคระดับกูรูเกี่ยวกับการวางระบบน้ำให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุดอีกวิธีหนึ่ง เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาน้ำไหลน้อยได้เป็นอย่างดี ประหยัดค่าไปได้อย่างมาก โดยมีเทคนิคคือ ให้ปั๊มทำงานเฉพาะเวลาที่น้ำประปาไหลอ่อนเท่านั้น เมื่อน้ำประปาไหลแรงพอ มีแรงดันที่จะไปยังทุกจุดในบ้านได้ดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปิดปั๊ม โดยมีการลงทุนเพิ่มเติมแค่ติดตั้งวาล์วเปิด-ปิดน้ำเพิ่มอีก 3-4 ตัวและเดินท่อน้ำเพิ่มอีกเล็กน้อยเท่านั้น


อธิบายง่ายๆคือ การวางระบบน้ำประปาในข้อนี้จะเดินท่อน้ำเพิ่มอีก1ทางจากมิเตอร์น้ำหน้าบ้านเป็น 2 ทาง ทางแรกให้ไหลไปที่ถังเก็บน้ำโดยมีวาล์วเปิด - ปิด
ควบคุมน้ำเข้าถังส่วนอีกท่อต่อเข้าระบบจ่ายน้ำของบ้าน โดยต้องติดตั้งเช็กวาล์วหรือ Check Valve เพื่อบังคับให้น้ำไหลทางเดียวให้ไหลเข้าบ้านแต่ไม่ไหลย้อนกลับออกมา และต้องติดตั้งวาล์วไว้ก่อนเช็กวาล์วด้วย


เทคนิคการเปิด-ปิดวาล์วจากรูปโดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ



1.กรณีน้ำประปาไหลแรงให้ปิดวาล์ว
เบอร์ 2 และเบอร์ 3 และให้เปิดวาล์วเบอร์ 4 แล้วปิดสวิตช์ปั๊มน้ำ แรงดันน้ำจากท่อหลักของการประปาฯ จะไหลเข้าบ้านโดยไม่ผ่านปั๊มน้ำ เป็นการช่วยลดค่าไฟฟ้าในการทำงานของปั๊มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2.กรณีน้ำไหลน้อยหรือไม่ไหลให้ปิดวาล์วเบอร์ 4 และเปิดวาล์วเบอร์ 2 และ 3 แล้วเปิดสวิตช์เครื่องปั๊มน้ำ ซึ่งการใช้น้ำในบ้านทุกจุดตอนนี้มาจากการสูบน้ำที่มาจากถังเก็บน้ำนั่นเอง


2.สำหรับอาคารพักอาศัยรวมหลายยูนิตหรืออาคารหลายชั้น มีห้องน้ำหลายห้องและมักใช้งานพร้อมๆกัน ซึ่งอาจทำให้การจ่ายน้ำตามระบบในข้อแรกไม่เพียงพอ แต่ก็มีหลักการใช้แรงโน้มถ่วงเข้ามาช่วย โดยติดตั้งแท้งก์ตัวที่ 1  ต่อจากมิเตอร์หน้าบ้านเหมือนข้อแรก แล้วต่อท่อมายังปั๊มน้ำ จากนั้นต่อท่อขึ้นไปยังแท็งก์ตัวที่ 2 ซึ่งอยู่บนอาคาร (ระดับสูงกว่าห้องน้ำชั้นบนสุดของบ้านประมาณ 6 เมตร) โดยอาจตั้งอยู่บนพื้นหลังคาแบบคอนกรีตเสริมเหล็กหรือวางบนขาตั้งเหล็กสูงที่ตั้งบนดาดฟ้าอีกทีหนึ่งก็ได้ แท็งก์ตัวที่ 2 นี้ จะทำหน้าที่จ่ายน้ำไปยังจุดใช้น้ำต่างๆภายในบ้านได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

ข้อสังเกต : ระบบน้ำแบบที่2นี้อาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงกว่า แต่จะประหยัดค่าไฟได้มาก เพราะปั๊มน้ำจะทำงานน้อยกว่าระบบแรกที่ปั๊มน้ำจะทำงานทุกครั้งที่มีผู้ใช้น้ำ แต่ในระบบนี้ปั๊มน้ำจะทำงานเมื่อปริมาณน้ำในแท็งก์ตัวที่ 2 ลดลงประมาณหนึ่งในสาม ปั๊มจะดันน้ำเข้าไปเติมในแท็งก์ให้เต็มดังเดิม

คำเตือน : การต่อระบบน้ำในอาคารหรือที่พักอาศัยไม่สามารถต่อตรงเข้ากับท่อประปาสาธารณะได้ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังเป็นการส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของส่วนรวมอีกด้วย ซ้ำร้ายเมื่อท่อภายนอกมีรูรั่วหรือแตกปั๊มก็จะดูเอาสิ่งสกปรกนั้นเข้ามาในบ้านด้วย และที่แย่ไปกว่านั้นคือ เมื่อการประปาหยุดจ่ายน้ำ ปั๊มน้ำจะปั๊มลมเข้ามาเรื่อยๆจนเครื่องร้อนจัด ทำให้เครื่องไหม้ได้ ฉะนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่งนะครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้